Ultrabook พร้อมแล้วหรือยัง?

ทักทายกันอีกครั้ง หลังจากไม่ได้เขียนมาร่วมเดือนเลย เอาเวลาไปทำอย่างอื่นหมด (รวมถึงเล่นเกมด้วย) ช่วงนี้กำลังมองหา Notebook เครื่องใหม่อยู่พอดี หลังจากเจ้า Dell Latitude ที่อยู่ด้วยกันมา เรื่องออกอาการขุ่นเคืองให้หมองใจ อยู่ด้วยกันมาสองปีกว่าแล้ว ก็ต้องมีเบื่อกันบ้างแหละ จริงๆ มันก็ทำงานให้ได้ดีมากเลยแหละ แต่ติดอย่างเดียวคือ “มันหนัก” รวมที่ชาร์ตแล้ว ร่วมสามกิโลเลย เมื่อสมัยเป็นวัยรุ่นแบกได้ไม่มีปัญหา วันไหนอยากรวดเร็วก็ใส่เป้แบกได้สบายๆ แต่ตอนนี้อายุเริ่มมากขึ้น ตัวเลขก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาการยอดฮิตของคนที่เป็นวัยรุ่นตอนปลายก็เริ่มเข้ามา นั่นก็คือ “ปวดหลัง” นั่นเอง ความผิดก็เลยมาตกกับ Dell ผู้น่าสงสารนี่แหละ (จริงๆ คือ อยากเปลี่ยน Notebook แต่หาข้ออ้างให้ตัวเองสบายใจมากกว่า)

Ultrabook คำนี้น่าจะผ่านสายตาเพื่อนๆ ที่ติดตามเทคโนโลยี หรือกำลังมองหา Notebook คู่ใจเครื่องใหม่มาบ้าง ซึ่ง Ultrabook นี้ก็มีความพิเศษที่เห็นชัดๆ กันเลยคือ บาง และ เบา กว่า Notebook ทั่วๆ ไปมาก แต่ยังคงขนาดหน้าจอและความเร็วในการประมวลผลที่เร็วกว่า Netbook นี่คือสิ่งที่เราเห็นจากหน้าตาของ Ultrabook แต่จริงๆ แล้วคำจำกัดความของ Ultrabook ที่กำหนดโดย Intel สรุปได้ตามนี้ (อ้างอิงจาก http://thailand.intel.com/content/www/th/th/learn/meet-the-ultrabook.html?wapkw=ultrabook)
– เครื่องต้องหนาไม่เกิน 21 มิลลิเมตร (0.82 นิ้ว)
– น้ำหนักต้องเบา ไม่เกิน 1.5 กิโลกรัม (3.3 ปอน)
– แบตเตอรี่ใช้งานได้ 7 ชั่วโมง แสตนบายมากกว่า 1 วัน (เขียนว่า several days standby)
– ราคาประมาณ 30,000 บาท (1000 เหรียญ)
– ใช้ SSD เป็นตัวเก็บข้อมูล
– เปิดใช้งานเครื่องได้ในไม่กี่วินาที (from zero to go in seconds)
– ใช้เทคโนโลยี Sandy Bridge (หรือ 2nd gen processor แต่ตอนนี้มี 3rd ออกมาแล้วนะ)
– มี USB 3.0
– มีหน่วยประมวลผลกราฟฟิกในตัว (GPU)

Notebook เครื่องไหนถ้าตรงตามเงื่อนไขทั้งหมด ก็ถือว่าเป็น Ultrabook ได้แล้ว ซึ่งตอนนี้ก็มีให้เลือกมากมายหลายรุ่นเลย นอกจาก Ultrabook แล้วยังมี Sleekbook (มีชื่อให้จำอีกชื่อละ) ที่ลักษณะคล้ายๆ Ultrabook แต่เงื่อนไขไม่ครบตามข้างบน บางรุ่นอาจใช้ CPU จาก AMD เลย วัสดุที่ทำก็ราคาประหยัดทำให้กดราคาลงมาอยู่ราวๆ สองหมื่นหน่อยๆ ได้ ก็เป็นตัวเลือกอีกอันสำหรับเพื่อนๆ ที่อยากได้ Notebook ที่เบาทั้งน้ำหนักและราคา

Notebook หรือ Ultrabook เครื่องใหม่ที่ผมมองอยู่ ผมจะเอาเครื่องที่ใช้งานอยู่เป็นฐานคือ Dell Latitude 6410 สิ่งที่ผมต้องการจาก Notebook เครื่องใหม่ที่กำลังมองอยู่มีตามนี้
– จอด้าน อันนี้สำคัญมาก ต่อให้เครื่องดีเทพแค่ไหน ถ้าเป็นจอสะท้อนก็ลาก่อนทันที
– แรมอย่างน้อย 4GiB ตรงนี้น่าจะผ่านกันหมดทุกเครื่องแหละ (Dell ผมใช้ 8GiB อยู่)
– มี Windows 7 ของแท้แถมให้ (สำคัญมากๆ)
– จอความละเอียดมากกว่า 1366×768 (Dell อยู่ที่ 1440×900) อันนี้ผมว่าสำคัญนะ ตัวหนังสือเล็กขยายได้ แต่พื้นที่ใช้งานไม่พอมันไม่สะดวกเลยแหละ
– ถอดเปลี่ยนใส่ SSD ได้ อันนี้สำคัญแน่นอน จะได้แกะจาก Dell มาใส่ แต่เครื่องรุ่นใหม่ๆ บางรุ่นเป็น SSD มาจากโรงงานเลย
– แบตใช้งานได้เกิด 4 ชั่วโมง ผมไม่หวัง 7 ชั่วโมงหรอก แค่นี้ก็น่าจะคุยกันจนจบงานได้แล้วล่ะ
– Layout ของ Keyboard ถ้ามีปุ่ม Home, End, Page Up, Page Down แยกจะดีมาก
– งบประมาณ ผมมีให้แค่แบงค์พัน ห้าสิบใบ (50000) ขาดได้ (ดีเลย) แต่เกินไม่ได้

เท่านี้จริงๆ เงื่อนไขของผม บางคนเขาอาจจะเอาการ์ดจอแรงๆ การ์ดจอแยก Harddisk เยอะๆ บลาๆๆๆๆ แต่ผมว่ามันไม่สำคัญอ่ะ อยากเก็บข้อมูลเอาใส่ external เอาก็ได้ งานส่วนใหญ่ผมก็เอาใส่ Google Drive หรือ Drop Box ไปหมดแล้ว โปรแกรมที่ลงใช้งานจริงๆ ก็มีแค่ Office 2010, Adobe CS6 ละก็ VMWare เท่านั้นแหละ (ซื้อแท้หมดนะจ๊ะ) เอาใส่ SSD 120G ก็พอแล้ว แบ่ง C ซะ 80G ที่เหลือเป็น D แค่นี้ก็พอแล้ว เหลือเฟือเลยแหละ

หลังจากที่นั่งดูรีวิวของแต่ละรุ่นมาสองสามอาทิตย์ ผมก็มาสรุปให้กับตัวเองเลย แล้วเอามาแชร์กับเพื่อนๆ ด้วยละกัน

**** ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นของผมแค่คนเดียวนะ ไม่ได้รับเงินจากใครทั้งนั้น (แต่ให้ก็ดี) ****

1. MacBook Air 13 นิ้วตัวล่าง หลังจากลดราคาเหลือ 39,900 แล้ว (ถ้าใช้สิทธิ์นักศึกษาซื้อ เหลือ 36,500)

MacBook Air คงไม่มีใครเถียงว่ามันเจ๋งแค่ไหน จอ 13 นิ้ว ความละเอียด 1600×900 แต่หนักแค่ 1.35 กิโลกรับ ได้ SSD มาอีก 128GB CPU ก็เป็น i5 แต่เป็นตัว Ultralow Voltage น่าจะเป็นตัว i5-3317U ความเร็ว 1.7GHz ใช้งานได้ 7 ชั่วโมง อันนี้ลองแล้ว ได้ราวๆ 6 ชั่วโมงกว่าๆ แบตก็เหลือ 10% ละ ก็ถือว่าใช้งานได้จริงละกัน ลงได้ทั้ง OSX และ Windows ถือว่าซื้อ 1 ได้ 2 (แต่ลงจริงก็คงได้แค่ OS นะ เนื้อที่ไม่พอใช้งานอ่ะ) ด้วยราคาแค่นี้ จากงบที่ผมตั้งไว้ เหลือเงินอีกเป็นหมื่น ใครจะไม่สนละ แต่จากข้อกำหนดของผม มันเป็นจอสะท้อนแสงน่ะสิ อีกอย่างผมก็มี MacBook Pro 13″ อยู่แล้วตัว (ตัว Core2Duo) ทำให้ความน่าสนใจของมันลดลงไปพอสมควร (สำหรับผมคนเดียวนะ) แล้วถ้าต้องการต่อออกจอนอก ก็ต้องใช้ตัวแปลงอีก ไม่สามารถเพิ่มแรมกับ SSD ได้ด้วย ลำบากเลยทีนี้ ด้วยข้อจำกัดพวกนี้ทำให้ต้องเลือกว่า ซื้อมาแล้วจะลง OSX หรือ Windows 7 (ซื้อเพิ่มอีก) ถึงแม้ Macbook Air จะสามารถซื้อในราคานักศึกษาได้ แต่ถ้าคิดว่าต้องซื้อ Windows ของแท้ด้วยแล้ว ราคามันก็ไม่ได้ลดลงไปเลย สำหรับคนที่อยากได้ Notebook ใหม่แล้วมองหา Ultrabook และอยากลองใช้งาน OSX ตัวเลือกนี้ก็น่าสนใจเหมือนกัน ถ้าไม่ถูกใจ OSX ก็ยังสามารถเอามาลง Windows หรือ Linux ได้อีกด้วย สบายสุดๆ

2. Toshiba Portege Z930 ตัวที่ดูไว้เป็น i5 3317U 1.7GHz ราคาที่เห็น 43,900

ผมถูกใจคีย์บอร์ดของเจ้า Portege นี้มากๆ มีปุ่ม Home,End,Page Up, Page Down ด้านขวาด้วย ถ้าเขียนโปรแกรมหรือพิมพ์งานมากๆ จะเห็นความสำคัญของการกดปุ่มเดียวเลยทำงานได้เลย ไม่ต้องกดปุ่ม Function (Fn) ก่อน

ตรงนี้ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกของผมเหมือนกัน ด้วยน้ำหนัก 1.13 กิโลกรัม (2.49 ปอน) มี USB ให้ตั้งสามอัน อยู่ด้านหลังสองอัน มีแลนให้ในตัว จะหาความสมบูรณ์แบบนี้จากไหนอีก แต่… สิ่งที่ทำให้ผมวางมันลงแล้วเดินจากไปคือ จอ ไม่ใช่จอมันเล็กหรอก จอ 13 นิ้วกำลังดีเลย แถมเป็นจอด้านด้วย ราคาขนาดนี้แต่ให้ความละเอียดกากๆ ที่ 1366×768 เงินขนาดนี้ขอจอความละเอียดมากกว่านี้ไม่ได้เหรอ ตัวหนังสือเล็ก ไม่เป็นไร ปรับได้ แต่พื้นที่ใช้งานน้อย (Work Space) มันเพิ่มไม่ได้นะ

3. Acer Aspire S5 ตัวที่เป็น i7 3517U ราคาที่เจอมา 49,900

ไม่มีความเห็นสำหรับยี่ห้อนี้ เป็นด้วยความที่ได้รางวัล Ultrabook ที่บางที่สุดในโลก ก็เลยมองมันนิดนึง น้ำหนักแค่ 1.3 กิโลกรัม แต่สิ่งที่ไม่ชอบเลยคือพอร์ททั้งหมดจะถูกปิดไว้อยู่ เวลาจะใช้ก็ต้องเปิดออกมา แสนลำบากแล้วคงจะหักเอาสักวัน แต่เอาเหอะ เขาออกแบบมาให้บางๆ นี่เนอะ จะว่าไปผมก็ไม่มีความเห็นกับยี่ห้อนี้หรอกเพราะไม่เคยใช้เหมือนกัน แต่รอบนี้ Acer เปิดตัวมาแรงเหลือเกิน ราคา 49,900 ได้ SSD แค่ 128G จอความละเอียด 1366×768 แถมเป็นจอสะท้อนอีก จะขายของ Premium แต่ใช้จอเหมือนกัน Notebook ราคาไม่ถึงหมื่น เงินขนาดนี้ไปซื้อ Macbook Air ตัวท็อป ได้ SSD 256G หรือตัวเลือกอื่นๆ มีให้เลือกอีกเยอะ

4. Samsung S9 ราคา 42,900

เป็นตัวที่ทำให้หวั่นไหวได้เลยเวลาเจอกับมัน เบา บาง มากๆ ได้ SSD 128G พร้อมแรม 4G เท่าที่อ่านรีวิวมา เห็นว่าเพิ่มได้ด้วย แต่ต้องถอด 4G ของเดิมออกก่อน เพราะมีช่องใส่แรมแค่ช่องเดียว จอขนาด 13 นิ้ว แต่ได้ความละเอียดตั้ง 1600×900 มีไฟที่คีย์บอร์ดด้วย แต่ติดตรงที่มี USB แค่ 2 เสียบเมาส์ก็เหลือให้ใช้แค่อันเดียว ลำบากเลย อีกอย่างพอร์ทต่างๆ อย่าง LAN VGA (ซื้อเพิ่ม) ก็ต้องใช้ตัวแปลงเอาอาจจะไม่สะดวกเท่าไหร่แต่ก็พอให้อภัยกันได้ น้ำหนักน่าจะเบาที่สุดแล้วมั้ง หนักแค่ 1.16 กิโลกรัม สมบูรณ์แบบทุกอย่าง ยกเว้นเวลาอยากกดปุ่ม Home, End, Page Up, Page Down ต้องใช้ปุ่ม Function + ลูกศร คงไม่สะดวกเท่าไหร่ถ้าใช้งานจริงๆ (เขียนโปรแกรม)

5. Asus Zenbook Prime i5 3317U 1.7GHz ราคา 38,900

ตัวนี้ประทับใจจอมากๆ ความละเอียดได้ Full HD พอดี (1920×1080) แถมเป็นจอด้านด้วย มี SSD 128G กับแรม 4G ตามมาตรฐาน Ultrabook ทั่วๆ ไป เห็นครั้งแรกแล้วถูกใจเลยแหละ เกือบควักบัตรหนี้สินแล้วตอนที่เห็นครั้งแรก แต่มันก็ต้องสะดุดเมื่อเจอปุ่ม Power (เปิด/ปิดเครื่อง) ดันไปอยู่ตำแหน่งเดียวกับปุ่ม Delete โอ้ว!!! ที่มีตั้งเยอะไม่ไว้ เอาไว้ทำไมตรงนี้ เอาอะไรคิดเนี่ย ไม่มีปุ่ม Home, End, Page Up, Page Down ไม่ว่าอะไร แต่ปุ่ม Power เอามาไว้ตรงนี้ ตำแหน่งประจำของปุ่ม Delete แม่จ้าว ถ้าจะเลียนแบบ Macbook Air ก็เลียนแบบแต่ที่มันดีๆ ก็ได้ อะไรที่มันไม่ดี ไม่ต้องเอามาหรอก คนบ่นกันเยอะมาก เรื่องปุ่ม Power เนี่ย เห็นแล้วเพลีย

จากที่ดูๆ มาทั้งหมด สุดท้ายแล้ว ก็ยังไม่ได้ซื้อ Notebook ใหม่ซะที ขาดนิด เกินหน่อย ไปตลอด อยากได้อะไรที่มันสมบูรณ์สำหรับตัวเราเองมันช่างหายากจริงๆ อย่างที่เขาว่าอ่ะ “อย่าหาอะไรที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง แต่ให้หาที่มันเหมาะสมที่สุด (ในความหมายของผมคือ ห่วยน้อยที่สุด) สำหรับตัวเอง” ผมคิดว่าตอนนี้คงยังไม่ถึงเวลาของ Ultrabook คงต้องรอให้ถึงสิ้นปีหรืออาจจะปีหน้าเลย เราคงได้เจอกัน (ถ้าเงินไม่หมดเสียก่อน) ถึงเวลานั้นอาจจะได้เครื่องทีราคาถูกลงมาพอสมควรแล้วก็ได้ครับ

คงจะได้เปลี่ยนสักวัน ถ้าเจอตัวที่ “ใช่”

ปล. เขียนอยู่สามวัน ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยด้วยนะ

ที่มาของภาพ notebookspec

Comments

จำนวนความเห็น