ผมเคยได้รับโปรเจคให้เขียนโปรแกรมขายของแล้วในส่วนของการจ่ายเงิน ให้ใช้ Payment Gateway ที่เป็นของธนาคารโดยตรงเลย เนื่องจากว่าค่าธรรมเนียมถูกกว่าของเว็บที่เป็นตัวกลางเช่น Paypal, Paysbuy หรือ 2C2P ก็เลยมีโอกาสได้ลองติดต่อกับธนาคารและมีข้อมูลมาแชร์กันนิดหน่อยครับ

ก่อนอื่นก็อธิบายคำว่า Payment Gateway ก่อน เว็บไซต์ที่มีการจ่ายเงินออนไลน์ตั้งแต่เว็บขายของ ไปจนถึงสายการบิน ที่มีการจองผ่านหน้าเว็บไซต์ ขั้นตอนสุดท้ายของการทำรายการก็คือการจ่ายเงิน ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผู้ซื้ออาจจะต้องออกไปโอนเงินที่ธนาคาร หรือดีหน่อยก็เดินไปจ่ายเงินที่ 7 ระบบ Payment Gateway จึงเป็นช่องทางให้ผู้ซื้อสามารถชำระเงินจากคอมพิวเตอร์ได้เลยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ซื้อมากขึ้น ระบบ Payment Gateway มี 2 รูปแบบคือ เชื่อมต่อกับธนาคารโดยตรง หรือ ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง เช่น Paypal ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ตามที่เคยศึกษามาดังนี้

เชื่อมต่อกับธนาคารโดยตรง
ข้อดี ค่าธรรมเนียมต่ำ ความน่าเชื่อถือสูง การใช้งานไม่ซับซ้อน
ข้อเสีย ค่าเปิดใช้บริการครั้งแรกสูงมาก เว็บไซต์ต้องเปิดใช้งาน SSL การติดตั้งครั้งแรกยุ่งยาก อาจมีค่าใช้จ่ายรายเดือน

การใช้ตัวกลาง (3rd Party Payment Gateway)
ข้อดี เว็บไซต์ไม่ต้องมี SSL ก็ได้ ติดตั้งง่าย ค่าใช้จ่ายรายเดือนน้อยหรืออาจจะฟรี
ข้อเสีย ค่าธรรมเนียมแพง ผู้ซื้อต้องมีบัญชีของเว็บตัวกลางเท่านั้น (เช่นจะจ่าย paypal ก็ต้องมีบัญชี paypal) การเบิกเงินใช้เวลานานกว่า

เนื่องจากโปรเจคที่เคยได้ทำ คนจ้างเขามีรายการต่อเดือนค่อนข้างเยอะ เป็นเงินก็ราวๆ 2-3 แสนบาทต่อเดือน (แปลงเป็นเงินไทยแล้ว) ผมใช้ Paypal เป็นตัวรับเงินให้เขา ซึ่งเขาก็โอเคอยู่ แต่ค่าธรรมเนียมแต่ละรายการ มันก็ค่อนข้างสูงพอสมควร เช่น Paypal คิดค่าธรรมเนียมที่ 4.4% + 0.3USD ต่อครั้ง เดือนหนึ่งก็เสียให้ Paypal หลายบาทอยู่ ผมก็เลยลองเสนอ Payment Gateway ของธนาคารตรงๆ ซึ่งเขาก็โอเค ก็เลยได้ศึกษากัน (อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ยังไม่ได้ทำจริง เหตุผลอยู่ข้างล่าง)

ธนาคารที่มี Payment Gateway ในประเทศไทยตอนนี้เท่าที่ศึกษามา มีอยู่ 4 ธนาคาร รายละเอียดและเงื่อนไข อยู่ข้างล่างเลยครับ

1. ธนาคารกสิกรไทย (KBank)

  • ต้องเป็นร้านค้าที่เป็น บริษัท/ห้างหุ้นส่วน และจดทะเบียนในประเทศไทย
  • มีเว็บไซต์ของตัวเอง พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้วและพร้อมเชื่อมต่อกับระบบของธนาคาร โดยชื่อผู้ จดทะเบียนเว็บไซต์ ต้องเป็นชื่อบริษัท/ห้างหุ้นส่วน หรือเป็นชื่อกรรมการผู้จัดการ/หุ้นส่วน
  • ประกอบธุรกิจไม่ต่ำกว่า 3 ปี มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ถ้าไม่ถึงธนาคารจะอนุมัติ เป็นรายๆ ไป
  • ร้านค้าจะต้องมีบัญชีกระแสรายวัน หรือ ออมทรัพย์ กับธนาคารกสิกรไทย
  • ร้านค้าต้องมีเงินฝากค้ำประกันการใช้บริการ จำนวนเงินธนาคารจะเป็นผู้พิจารณา (เท่าที่รู้มาประมาณ 200,000 บาท)

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)

  • เป็นร้านค้าประเภทนิติบุคคล จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 ปี และจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าหากไม่ครบ 1 ปี ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท)
  • ต้องมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หรือบัญชีกระแสรายวันของธนาคารกรุงศรี
  • มีเว็บไซต์ที่พัฒนาเสร็จแล้ว
  • ต้องวางเงินค้ำประกันกับธนาคาร โดยเงินประกันจะได้คืนหลังจากยกเลิกสัญญากับธนาคารไม่น้อย กว่า 6 เดือน เงินประกันขั้นต่ำ 200,000 บาท (อยู่ที่ธนาคารพิจารณา)
  • ถ้าเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ต้องมี ใบอนุญาตประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ที่ออกโดย การท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท)
  • ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 5,000 บาท ต่อเว็บ
  • ค่าธรรมเนียมรายปี 10,000 บาท ถ้าเปิดใช้บริการป้องกันการทุจริตในการใช้บัตรเครดิตเว็บไซต์ 25,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียม 3-5% ต่อรายการ

ธนาคารกรุงไทย (KTB)

  • ต้องเป็นร้านค้าที่จดทะเบียน บริษัท/ห้างหุ้นส่วน
  • มีเว็บไซต์ที่พร้อมเชื่อมต่อกับบริษัท
  • ค่าเปิดใช้บริการ 100,000 บาท
  • ค่ารายเดือน 2,000 บาท
  • ค่าบริการ 15 บาท ต่อรายการ

ธนาคารไทยพานิชย์ (SCB)

  • ต้องเป็นบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนเท่านั้น
  • มีระบบตัดบัญชี กับ บัตรเครดิต แยกจากกัน
  • ต้องมีเว็บไซต์ที่พร้อมใช้งาน

จากเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร โดยเฉพาะการวางเงินประกันกับค่าแรกเข้า หลังจากที่พิจารณากันอย่างรวดเร็วแล้ว ข้อสรุปของเจ้าของเว็บไซต์คือ ใช้ Paypal ต่อไป

Comments

จำนวนความเห็น